Background

หลักการและเหตุผลของโครงการ

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากต่อความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เนื่องจากทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตรวมทั้งเป็นปัจจัยหลักเพื่อการผลิตทั้งในด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม ด้านการท่องเที่ยว และด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต มาเป็นจำนวนมากจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และบุคคลากรเหล่านั้นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งในทางตรงและทางอ้อมในหลาย ๆ ระดับ ดังนั้น คณาจารย์ของภาควิชาฯ จึงได้พัฒนาความรู้ความสามารถในด้านการบริหารจัดการน้ำจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นงานที่มีความซับซ้อนในหลายมิติทั้งในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสาเหตุให้ความสำเร็จของงานในด้านนี้เป็นสิ่งท้าทายสำหรับหน่วยงานและบุคคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จากความซับซ้อนดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยังคงเป็นประเด็นปัญหาของประเทศที่ต้องหาแนวทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลดระดับความรุนแรงลง แนวทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ การพัฒนาองค์ความรู้ที่จะสามารถสร้างความเข้าใจสภาพทางกายภาพของทรัพยากรน้ำได้อย่างถูกต้องและทันเหตุการณ์ เพื่อให้หน่วยงานและบุคคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศสามารถนำข้อเท็จจริงด้านกายภาพไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างถูกต้องและตรงจุดตรงประเด็น

ในปัจจุบันองค์ความรู้ด้านหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลด้านกายภาพพื้นฐานประกอบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คือ องค์ความรู้ที่ได้จากเทคนิคการรับรู้จากระยะไกล (Remote Sensing) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยหลายสถาบันที่มีชื่อเสียงทั่วโลกได้สร้างผลิตภัณฑ์จากเทคนิคการรับรู้จากระยะไกลมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานด้านกายภาพที่สามารถนำมาใช้ประกอบเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในองค์ประกอบต่าง ๆ ด้านอุทกวิทยาที่สามารถนำมาใช้ประกอบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ องค์ประกอบด้านอุทกวิทยาที่สามารถประเมินได้โดยเทคนิคการรับรู้จากระยะไกลมีเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น ข้อมูลฝน ข้อมูลการคายระเหย ข้อมูลความชื้นในดินใกล้ผิวดิน ข้อมูลความชื้นในดินตามความลึกต่าง ๆ แบบสัมพัทธ์ ข้อมูลการสะท้อนกลับเพื่อใช้ประเมินฝนจากเรดาร์ เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ตรวจสอบกับข้อมูลภาคสนามที่ทำการตรวจวัดไว้โดยหน่วยงานต่าง ๆ อาทิเช่น ข้อมูลฝน ข้อมูลการระเหยจากถาดวัดการระเหย ข้อมูลน้ำท่า ข้อมูลการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เมื่อนำข้อมูลที่ประเมินโดยเทคนิคการรับรู้จากระยะไกลมาประกอบกันกับข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากภาคสนาม ทำให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อจะได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดภาคสนามให้มีความถูกต้องและละเอียดมากขึ้น หรือในกรณีที่ข้อมูลบางชนิดไม่สามารถตรวจวัดได้ทันท่วงทีก็สามารถนำข้อมูลที่ได้จากเทคนิคการรับรู้จากระยะไกลที่มีลักษณะใกล้เวลาจริง (Near-Real Time) มาใช้ประกอบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างทันท่วงที โดยถ้าได้มีการบูรณาการข้อมูลทั้ง 2 ประเภท เข้าด้วยกันก็สามารถสร้างความเข้าใจต่อสมดุลน้ำของประเทศในลักษณะกริดที่มีความละเอียดสูงและมีการเปลี่ยนแปลงแบบรายเดือนหรือรายวัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความลึกฝน การคายระเหย การเปลี่ยนแปลงปริมาณการเก็บกักทั้งในส่วนของผิวดิน ในเนื้อดิน และในน้ำใต้ดิน รวมทั้งปริมาณการไหล ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์น้ำในทุกช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี และสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้นแล้ว เทคนิคการรับรู้จากระยะไกลยังสามารถนำมาใช้เพื่อประเมินสภาพความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาที่เกิดสภาพฝนทิ้งช่วงหรือความแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถนำมาใช้ประเมินผลผลิตทางการเกษตรสำหรับพืชเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การนำเทคนิคการรับรู้จากระยะไกลมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ศูนย์วิจัยการรับรู้จากระยะไกลเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (Remote Sensing Research Centre for Water Resources Management; SensWat) จึงเกิดขึ้นเพื่อการนำองค์ความรู้ด้านเทคนิคการรับรู้จากระยะไกลมาใช้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยศูนย์วิจัยที่จะจัดตั้งขึ้นมีกลุ่มนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้เป็นอย่างดีจากประสบการณ์ในการทำโครงการวิจัยด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องและมีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ดำเนินโครงการงานวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาความมั่นคงของลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนทั้ง 25 ลุ่มน้ำ” ของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดำเนินการในปี พ.ศ. 2559 โดยภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ศ.ดร.นุชนารถ ศรีวงศิตานนท์ ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบหลักในส่วนของการจัดทำบัญชีน้ำโดยวิธี Water Accounting Plus โดยโครงการดังกล่าวเป็นการจัดทำบัญชีน้ำแบบรายเดือนในช่วงเวลา 3 ปี ของปีน้ำน้อย น้ำปานกลาง และน้ำมาก ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2556 สำหรับ 25 ลุ่มน้ำหลัก และ 254 ลุ่มน้ำสาขา ทั่วประเทศ โดยโครงการดังกล่าวได้นำเทคนิคการรับรู้จากระยะไกลมาเป็นองค์ความรู้หลักในการวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อการจัดทำบัญชีน้ำทั่วประเทศ นอกจากนั้นแล้ว คณะวิจัยได้มีโอกาสทำวิจัยอย่างต่อเนื่องกับ Prof. Wim Bastiaanssen จากหน่วยงาน IHE DELFT Institute for Water Education (UNESCO-IHE) รวมทั้ง Prof. Hubert H. G. Savenije จากหน่วยงาน Delft University of Technology และ Prof. Jia Li จากหน่วยงาน Chinese Academy of Sciences, Institute of Remote Sensing and Digital Earth (RADI) ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจจากระยะไกลและอุทกวิทยาที่มีผลงานในระดับนานาชาติจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้ว ศ.ดร.นุชนารถ ศรีวงศิตานนท์ ได้ร่วมมือกับ Prof. Wim Bastiaanssen ในการจัดให้มีการลงนามความร่วมมือในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างองค์การ UNESCO-IHE กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการร่วมมือวิจัยด้านการประยุกต์ใช้เทคนิคการรับรู้จากระยะไกลเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์วิจัยการรับรู้จากระยะไกลเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะมีศูนย์วิจัยที่เป็นศูนย์กลางในการให้ข่าวสารด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ และเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ด้านการรับรู้จากระยะไกลและอุทกวิทยาที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือประกอบการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ที่เป็นแหล่งในการทำงานประสานร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐ อาทิเช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่องานด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ

Loading

Skip to toolbar